5.4 การเตรียมบ่อ

    

 

การเตรียมบ่อก่อนปล่อยลูกกุ้งสำหรับบ่อใหม่เพื่อการเลี้ยงครั้งแรกหรือการเตรียมบ่อหลังจากจับกุ้งในแต่ละครั้ง เพื่อให้พื้นก้นบ่อสะอาดเหมาะสมหรับการเลี้ยงในครั้งต่อไป แต่ละฟาร์มและแต่ละพื้นที่จะมีการเตรียมบ่อที่แตกต่างกันออกไปขึ้นกับ ลักษณะของดินพื้นบ่อ เช่นดินเป็นกรด ดินทราย ดินลูกรัง หรือดินเหนียวแข็ง และความสะดวกด้านอื่นๆด้วย

            หลังจากจับกุ้งแต่ละรอบส่วนใหญ่จะมีการตากบ่อให้แห้งแล้วใช้รถตักดินกลางบ่อออกไป โดยอาจจะเอามาอัดไว้ที่มุมบ่อ บนคันบ่อหรือเก็บไว้ในพื้นที่เก็บเลนภายในฟาร์มแล้วปรับระดับบ่อให้เรียบ เตรียมพร้อมสำหรับการเลี้ยงต่อไป

            บางพื้นที่ไม่ใช้การตากบ่อ แต่ใช้วิธีการฉีดเลนหลังจากจับกุ้งเสร็จเรียบร้อยแล้วโดยไม่ต้องรอให้พื้นบ่อแห้ง ที่เห็นได้บ่อย คือ พื้นที่ทางภาคตะวันออกในจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด รวมทั้งพื้นที่อื่นๆที่อยู่ในบริเวณป่าชายเลนทางภาคใต้ การเตรียมบ่อในลักษณะเช่นนี้สิ้นเปลืองเวลาน้อยและประหยัด แต่ผลเสียจะเกิดตามมามาก ถ้าหากมีการฉีดเลนและปล่อยของเสียลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะจะทำให้คุณภาพน้ำเน่าเสียในเวลาต่อมามีผลต่อการเลี้ยงกุ้งในบริเวณนั้นด้วย ดังนั้นการเตรียมบ่อโดยวิธีการฉีดเลนจะต้องมีพื้นที่บ่อเก็บเลนภายในฟาร์มอย่างเพียงพอ

            การเตรียมบ่ออีกแบบหนึ่งไม่มีการนำเลนออกจากบ่อแต่จะมีการไถพรวนให้ดินที่อยู่ชั้นล่างขึ้นมาสัมผัสอากาศและแดดเป็นเวลานานพอเพียงที่จะทำให้ดินชั้นล่างเปลี่ยนจากสีดำเป็นสีปกติแล้วมีการปรับระดับอัดดินให้แน่นตามเดิม พร้อมสำหรับการเลี้ยงครั้งต่อไป

มีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องเตรียมบ่อทุกครั้งโดยเอาเลนออกหรือฉีดเลนหลังจับกุ้งแล้ว

            เป็นคำถามที่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังข้องใจว่า ถ้าไม่เตรียมบ่อหรือไม่เอาเลนออกจะเลี้ยงกุ้งได้ระยะเวลานานตามปกติประมาณ 120 วันหรือไม่

            ก่อนอื่นต้องมาพิจารณาว่าเลนกลางบ่อหลังจากจับกุ้งจะมีมากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับลักษณะของดินก้นบ่อ ถ้าเป็นดินที่ที่มีการพังทลายจากขอบบ่อและคันบ่อจากแรงของกระแสน้ำจากการเปิดเครื่องให้อากาศจะทำให้ดินเลนกลางบ่อมีปริมาณมาก แต่ถ้าเป็นดินลูกรังหรือดินเหนียวแข็ง ปริมาณเลนกลางบ่อจะมีน้อยมาก สำหรับดินทรายตะกอนจากซากแพลงก์ตอน เศษอาหารและสารอินทรีย์ต่างๆ จะแทรกตัวอยู่ใต้พื้นบ่อในระดับที่ลึกมากกว่าบ่อที่มีพื้นแข็ง การเลี้ยงกุ้งมักจะมีปัญหาต้องจับกุ้งก่อนกำหนด เนื่องจากพื้นบ่อเน่าเสีย ในระดับล่างลงไปจะมีสีดำมาก แต่เมื่อจับกุ้งจะไม่พบเลนกลางบ่อมาก เพราะการแทรกตัวอยู่ใต้ทรายพื้นบ่อโดยทั่วไป

            จากการวิเคราะห์เลนกลางบ่อซึ่งมักจะมีสีดำ พบว่ามีส่วนประกอบของดินทราย ดินร่วนและดินเหนียว ในเปอร์เซ็นต์ที่แตกต่างกันไป ซึ่งรวมกันแล้วประมาณ 98 เปอร์เซ็นต์ ส่วนสารอินทรีย์จะมีประมาณ 1-2 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นเอง ซึ่งไม่ได้แตกต่างจากการนำเอาดินปกติมาวิเคราะห์มากนัก แต่ดินเลนเหล่านี้มีสีดำเนื่องจากอยู่ในภาวะขาดออกซิเจนและมีกลิ่นเหม็น เนื่องจากใช้เครื่องให้อากาศเพื่อทำความสะอาดพื้นบ่อ ความแรงของน้ำจะกัดเซาะขอบบ่อ และพื้นบ่อให้ดินตะกอนต่างๆหลุดอออกมารวมกันกลางบ่อ หลังจากตากบ่อให้แห้งจนดินเลนเหล่านี้แตกระแหง อากาศแทรกตัวเข้าไปในดินเลนได้ ดินเลนเหล่านี้จะมีสีจางลงจนเป็นสีของดินปกติ เกษตรกรมักจะคิดว่าดินเลนกลางบ่อคือขี้กุ้งเป็นส่วนใหญ่ แต่ความจริงแล้วขี้กุ้งและสารอินทรีย์ต่างๆมีในปริมาณที่เพิ่มขึ้นจากดินปกติเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

            หลังจากจับกุ้งถ้าเป็นพื้นบ่อแข็ง เช่น ดินลูกรังหรือดินเหนียว พื้นบ่อในแนวหว่านอาหารสะอาดเป็นบริเวณกว้างและปริมาณเลนกลางบ่อมีไม่มาก ไม่มีความจำเป็นที่ต้องตักเอาเลนออกทุกครั้ง เพียงแต่ตากบ่อให้แห้งเท่านั้นก็พร้อมที่จะเตรียมน้ำสำหรับปล่อยลูกกุ้งต่อไปได้ แต่ถ้ามีฝนตกมากไม่สามารถจะตากบ่อให้แห้งได้ หลังจากจับกุ้งเสร็จแล้วเติมน้ำเข้าไปในบ่อไม่ต้องเต็มบ่อ เติมจุลินทรีย์ในบริเวณเลนกลางบ่อเพื่อย่อยสลายสารอินทรีย์ต่างๆที่หลงเหลืออยู่โดยเปิดเครื่องให้อากาศเต็มที่อย่างต่อเนื่องประมาณ 2 สัปดาห์ เมื่อคุณภาพน้ำอยู่ในระดับปกติ คือสีน้ำไม่เข้ม ปริมาณแอมโมเนีย และไนไตรท์อยู่ในระดับปกติก็พร้อมที่จะเตรียมน้ำสำหรับปล่อยลูกกุ้งต่อไป     แต่ควรจะปล่อยลูกกุ้งในปริมาณที่น้อยกว่าการเลี้ยงรอบที่ผ่านมา

            ประโยชน์ของการไม่เอาเลนออก คือประหยัดค่าใช้จ่าย    สีน้ำจะเกิดเร็วขึ้นและนิ่งเร็วกว่าการเอาเลนออกทุกครั้ง สามารถลดการใช้วัสดุปูนและปุ๋ยได้ นอกจากนั้นจะทำให้ค่าอัลคาไลน์อยู่ในระดับที่เหมาะสม  ตะกอนแขวนลอยต่างๆลดลง

            บ่อที่มีเลนกระจายทั่วบ่อและมีปริมาณมากเนื่องจากลักษณะของดินพื้นบ่อไม่แข็งหรือเนื่องจากเครื่องให้อากาศไม่สามารถรวมเลนตะกอนต่างๆได้ ผลการเลี้ยงมักจะได้ผลไม่ดี หลังจากจับกุ้งแล้วควรจะทำการปรับปรุงสภาพพื้นบ่อโดยการตากบ่อให้แห้งเอาเลนที่กระจัดกระจายออก และปรับระดับพื้นบ่อใหม่ ควรจะนำเลนกลางบ่อลบมุมบ่อให้ป้านมากขึ้นเพื่อจะทำให้การใช้เครื่องให้อากาศมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมเลนได้ดีขึ้นด้วยในการเลี้ยงครั้งต่อไป

บ่อที่มีเลนพื้นบ่อมาก เพราะคันบ่อดินไม่แน่น เมื่อเปิดเครื่องให้อากาศจะชะเอาดินขอบบ่อโดยรอบเข้ามากระจายในบ่อทำให้พื้นบ่อมีเลนมาก อาจจะต้องปลูกหญ้ายึดเกาะดินป้องกันการพังทลายกัดเซาะดินลงมาในบ่อ  และควรนำเลนกลางบ่อออกหลังจากตากบ่อจนเลนแห้งแล้ว

บางฟาร์มมีการนำพลาสติกหรือโพลีเอททีลีน (P.E.) มาปูคลุม

 

ภาพที่ 5.23 บ่อที่มีเลนกระจาย                                   ภาพที่ 5.24 คันบ่อบุ PE.

 

เฉพาะบริเวณขอบบ่อ ป้องกันการพังทลายและถูกกระแสน้ำกัดเซาะดินลงไปในบ่อ ก็สามารถลดปริมาณตะกอนและเลนในบ่อได้มาก การเตรียมบ่อที่เหมาะสมกับสภาพพื้นดินอาจจะเลือกโดยใช้วิธีการดังนี้

ดินเหนียวแข็ง    หลังจากจับกุ้ง เลนรวมดีกลางบ่อ เลนมีไม่มาก ตากบ่อแห้งก็เพียงพอแล้ว  แต่ถ้ามีเลนกลางบ่อมาก  ควรตากให้แห้งตักเลนกลางบ่อออกก็ได้

 

ภาพที่ 5.25  บ่อที่มีเลนน้อย ตากบ่อให้เลนแห้ง             ภาพที่ 5.26 บ่อที่มีเลนกลางบ่อมาก ตากบ่อแห้งแล้ว

ไม่ต้องเอาเลนออก                                                            ควรเอาเลนออก

 

ดินเหนียวปนทราย ไถพรวนพื้นบ่อ ไม่ต้องเอาเลนออก ตากบ่อให้แห้ง ปรับระดับใหม่ บดอัดให้แน่น หรือจะใช้วิธีการฉีดเลนโดยมีบ่อเก็บกักเลน ไม่ระบายออกมาภายนอกฟาร์ม

 

ภาพที่ 5.27 การเตรียมบ่อโดยพลิกหน้าดิน ตากจนแห้ง แล้วบดอัดให้แน่น

 

ดินลูกรังพื้นแข็ง ตากบ่อให้แห้งไม่ต้องเอาเลนออกเลี้ยงต่อไปได้เลย หรือจะใช้การฉีดเลนเอาตะกอนที่ชั้นล่างออกไป โดยมีบ่อเก็บเลนภายในฟาร์ม

ภาพที่ 5.28 บ่อดินลูกรังมีเลนน้อย หลังจากตากบ่อแห้ง ไม่ต้องเอาเลนออก

 

ดินทราย ไถพรวนทั้งบ่อให้ลึกลงไปจนถึงระดับที่มีสีดำ ตากบ่อให้แห้งจนดินไม่มีสีดำ ปรับระดับบ่อใหม่และอัดบดให้แน่น หรือจะใช้วิธีการฉีดเลนให้ตะกอนสีดำที่อยู่ในระดับล่างออกไปและเก็บไว้ในบ่อเก็บเลนภายในฟาร์ม

 

ภาพที่ 5.29 การฉีดเลนในดินทราย                               ภาพที่ 5.30 บ่อเก็บเลนในดินทราย

 

ดินเป็นกรด  สังเกตตะกอนสีของสนิมเหล็ก  เมื่อพื้นบ่อแห้ง  ห้ามไถพรวนเพราะจะทำให้กรดในดินข้างล่างออกมา  การตากบ่อดินกรดที่มีสนิมเหล็กให้แห้งจะเพิ่มความเป็นกรด  ดังนั้นควรฉีดเลน และมีบ่อเก็บกักเลนภายในฟาร์ม  ตากบ่อไม่นาน  เติมน้ำเข้าบ่อ เติมวัสดุปูนปรับพีเอช และเตรียมน้ำสำหรับปล่อยกุ้ง

 

ภาพที่ 5.31 การเตรียมบ่อโดยวิธีการฉีดเลน                  ภาพที่ 5.32 บ่อสำหรับเก็บกักเลนภายในฟาร์ม

 

            การเตรียมบ่อตามวิธีที่กล่าวมาทั้งหมดนี้มักจะพบได้ทั่วไปในหลายพื้นที่ นอกจากนั้นบางฟาร์มจะมีการดัดแปลง นอกเหนือจากที่กล่าวไปแล้ว คือ

            ขุดกลางบ่อเป็นแอ่งกะทะไว้รวมเลน ข้อควรระวังอย่าให้แอ่งลึกเกินไป ต้องประเมินให้ความลึกและขนาดของแอ่งพอดีกับตะกอนเลนที่มารวมกันเมื่อตอนจับกุ้ง ถ้าแอ่งลึกหรือมีขนาดใหญ่เกินไป เมื่อจับกุ้งเลนยังไม่เต็มแอ่งจะมีกุ้งค้างอยู่ในแอ่งเป็นจำนวนมากต้องเสียเวลานานในการสูบน้ำออกเพื่อจับกุ้งในแอ่ง

            นอกจากการเตรียมบ่อที่กล่าวมาแล้ว  มีเกษตรกรหลายท่านที่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงกุ้งกุลาดำโดยมีวิธีการเตรียมบ่อและการจัดการต่างๆ ระหว่างการเลี้ยงแตกต่างออกไป 

 

การใช้สารอินทรีย์ปรับปรุงดิน

            บ่อที่ผ่านการเลี้ยงมาหลายปีและไม่มีการฟื้นฟูสภาพดินพื้นบ่อ ใช้สารอินทรีย์สำหรับปรับปรุงดินในการเตรียมบ่อตามวิธีการของ คุณนันทศักดิ์ หงษ์กิตติยา ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดปัตตานี มีขั้นตอนในการเตรียมบ่อดังนี้

1.       การเตรียมบ่อ  ให้ความสำคัญตั้งแต่การเตรียมบ่อที่ดี  หลังจากตากบ่อแห้งแล้วเอาเลนกลางบ่อออก  ปรับสภาพพื้นบ่อให้พร้อมที่จะเตรียมน้ำสำหรับปล่อยลูกกุ้ง ในกรณีที่เป็นบ่อเก่ามาก อาจจะต้องมีการปรับปรุงดินโดยใช้สารอินทรีย์สำหรับปรับปรุงดิน ตามวิธีการของคุณนันทาศักดิ์ หงษ์กิตติยานนท์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดปัตตานีก็ได้หรืออาจจะเตรียมบ่อวิธีอื่นตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่

 

ภาพที่ 5.33 การปรับสภาพพื้นบ่อก่อนการเลี้ยง

 

1.1     เอาเลนกลางบ่อออก ไม่ต้องตากจนแห้งสนิท

1.2     วัดพีเอชดินก่อนใส่สารอินทรีย์ปรับสภาพดิน

-          พีเอช 4 ใส่สารอินทรีย์ปรับสภาพดิน 500 กิโลกรัม/ไร่

-          พีเอช 5 ใส่สารอินทรีย์ปรับสภาพดิน 300 กิโลกรัม/ไร่

-          พีเอช 6 ใส่สารอินทรีย์ปรับสภาพดิน 200 กิโลกรัม/ไร่

** สารอินทรีย์ปรับสภาพดินมีอัตราส่วนคาร์บอนต่อไนโตรเจน (C/N) = 25:1

1.3     หว่านโรยสารปรับสภาพดินให้ทั่วบ่อ

1.4     หมักจุลินทรีย์น้ำ ซึ่งประกอบไปด้วย  

-  สารอินทรีย์ปรับปรุงดิน 50 กิโลกรัม

-          กากน้ำตาล 5 กิโลกรัม

-          แบคทีเรียบาซิลลัส    1 กิโลกรัม

-          น้ำ 200 ลิตร

** กวนส่วนผสมให้เข้ากัน หมักนาน 24 ชั่วโมง

1.5     นำจุลินทรีย์ที่หมักไว้ไปราดลงบนพื้นบ่อให้ทั่ว

1.6     พรมน้ำให้ชื้นเป็นระยะๆ ถ้าบ่อแห้ง (กรณีฝนตกมีน้ำขังในบ่อไม่ต้องทำในข้อ 1.6)

1.7     ใช้ระยะเวลา 14 วัน หากดินอยู่ในสภาพที่ดี  แต่ถ้าดินมีสภาพไม่ดีนักอาจต้องใช้เวลานานกว่านี้คือประมาณ 21 วัน

1.8     สูบน้ำจากบ่อที่พักน้ำมาเป็นเวลานานพอเพียงแล้วผ่านผ้ากรองป้องกันสัตว์น้ำต่างๆ เข้าไปในบ่อ

1.9     ถ้าบ่ออยู่ในสภาพที่ดี ประมาณ 2-3 วันปริมาณสัตว์หน้าดินและแพลงก์ตอนจะมีปริมาณเหมาะสมสำหรับการปล่อยลูกกุ้ง

 

ภาพที่ 5.34 สารอินทรีย์สำหรับปรับปรุงดิน

 

ภาพที่ 5.35 สภาพพื้นบ่อที่ได้รับการปรับสภาพแล้วก่อนเตรียมน้ำสำหรับปล่อยลูกกุ้ง

 

ภาพที่ 5.36 หมอสุรศักดิ์กำลังบรรยายให้แก่เกษตรกร

 

สำหรับการเตรียมบ่อและการจัดการในการเลี้ยงกุ้งกุลาดำของ .สพ.สุรศักดิ์ ดิลกเกียรติ  (2546) ได้อธิบายรายละเอียดไว้ดังนี้

 

การประเมินและการวางแผนก่อนการเลี้ยงกุ้งรอบใหม่

ยุคปัจจุบันฟาร์มเลี้ยงกุ้งต้องประเมินและวางแผนล่วงหน้าก่อนการเลี้ยงกุ้งในแต่ละรอบการผลิตเสมอ เพราะสถานการณ์ด้านการผลิตและการตลาดของกุ้งโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว  ถ้าไม่มีการประเมินและวางแผนล่วงหน้าอาจทำให้เสียโอกาสในการสร้างกำไร  หรือทำให้ขาดทุนในรอบการผลิตนั้นได้ง่าย

เงื่อนไขประกอบการประเมิน และการวางแผนการเลี้ยง  ผลการเลี้ยงกุ้งรอบก่อนได้ผลดี หรือพลาดวิเคราะห์จุดเสี่ยงและปัญหาที่พบเพื่อเตรียมการป้องกันแก้ไขในรอบต่อไปโดยการบันทึกอย่างชัดเจน

สภาพในบ่อเลี้ยงหลังจับกุ้งรอบก่อน

ควรตรวจเช็คผิวและตะกอนพื้นบ่อทันทีหลังเปิดจับกุ้งทุกครั้ง (วิธีง่ายๆคือใช้ไม้ขูดพื้นลึกประมาณ 1ิ้ว) ดูว่าใต้พื้นที่เน่าดำหรือไม่ ทำเครื่องหมายบริเวณหมักหมม เพื่อการบำบัดสารอินทรีย์บริเวณที่หมักหมมให้สมบูรณ์ก่อนการเลี้ยงรอบต่อไป (วิธีนี้จะเสียค่าใช้จ่ายต่ำสุด และใช้เวลาน้อยลง) และควรประเมินเงื่อนไขต่างๆ ดังนี้

1) ประเมินปริมาณสารอินทรีย์ส่วนเกินที่ค้างในบ่อ และความเสี่ยงโรคเช่น

-ถ้าแพลงก์ตอนดรอบก่อนจับ                   มีซากแพลงก์ตอนที่ผิวเขตเลี้ยงมาก

-ถ้าผิวพื้นเน่า หรือ เลนไม่รวม                          สารอินทรีย์หมักหมมเป็นบริเวณกว้างหรือกระจาย

-ถ้ากุ้งน๊อคไม่กินอาหารก่อนจับ                         สารอินทรีย์หมักหมมกระจายทั่วเขตเลี้ยง

-ถ้ากุ้ง เป็นซูหรือป่วย /กรอบแกรบก่อนจับ  สารอินทรีย์หมักหมมกระจาย

                                                                  มีเชื้อซูโอแทมเนียม หรือวิบริโอค้างในตะกอน(ลึกตามคุณสมบัติของดิน จะลึกที่สุดในดินปนทราย)

-ถ้ากุ้งป่วยด้วยโรคดวงขาวก่อนเปิดจับ                มีความเสี่ยง สัตว์หลายชนิดที่ค้างในบ่อเป็นพาหะนำโรค

2) ประเมินสภาพแวดล้อมในแหล่งเลี้ยงในช่วงเลี้ยงกุ้งรอบต่อไป เช่น คุณภาพน้ำในขณะนั้น และ 4เดือนข้างหน้า สำรองน้ำให้เหมาะสมเช่นเก็บน้ำในระบบให้พอใช้ตลอดรอบการเลี้ยง  ปล่อยกุ้งพอดี

3)  ประเมินความเสี่ยงโรค ในระยะเตรียมบ่อเตรียมน้ำ เคร่งครัดทุกขั้นตอนเป็นพิเศษ ทั้งกำจัดพาหะ กันนก กันน้ำรั่วซึมเข้าบ่ออื่นๆ   เสี่ยงโรคมากควรชลอไว้ก่อน

4)  ประเมินความเสี่ยง ฤดูกาล ภูมิอากาศในรอบเลี้ยงต่อไป

-  ฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูฝนชุก                 ประเมินความยากง่ายในการเลี้ยงกุ้งใหญ่ในระยะฝนตกชุก

-  ฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว                   ระวังที่กุ้งใหญ่ 2เดือนขึ้นไป ซึ่งกุ้งอาจชะงักเลี้ยงฟรี หรือเลี้ยงยาก  ระวังปัญหาโรคระบาด

-  ฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน                  เลือกเตรียมบ่อเตรียมน้ำช่วงปลายหนาว  วางแผนการเลี้ยงให้

                                                สามารถเลี้ยงกุ้งใหญ่ผ่านภาวะร้อนแล้งได้

**ควรหลีกเลี่ยงหรือเลี้ยงกุ้งเล็กผ่านช่วงฝนนอง หรือฤดูหนาว จะเสี่ยงโรคดวงขาวมากขึ้นเพราะอุณหภูมิน้ำต่ำ หรือแกว่ง กุ้งจะกินอาหารน้อย เฉื่อย ฝังตัวในตะกอน อ่อนแอง่าย ป่วยง่าย

 

ตรวจสอบกระแส หรือ จังหวะปล่อยกุ้งทั่วประเทศ

ไม่ควรปล่อยกุ้งทั้งฟาร์มพร้อมๆกัน ทั่วประเทศ เพราะปัจจุบันตลาดเปลี่ยนไปแล้ว กุ้งเข้าตลาดมากพร้อมกันจะเสี่ยงราคาตกต่ำรุนแรงได้ (ควรทยอยปล่อยตามความเหมาะสม)

เทคนิคการเตรียมฟาร์มและเตรียมบ่อ

การเตรียมฟาร์มเตรียมบ่อ ควรปรับตามผลการตรวจสอบ ประเมินวางแผน และความพร้อมด้านต่างๆของแต่ละฟาร์ม ทั้งนี้โดยรวม มีขั้นตอนดำเนินการคือ

 

 การเตรียมฟาร์ม

ถ้ากุ้งในฟาร์มรอบผ่านมาป่วยเป็นโรคไวรัส หรือโรคกำลังระบาดในแหล่งเลี้ยง ควรปรับการเตรียมฟารม์ดังนี้

            -กำจัดสัตว์พาหะนำโรคทั้งฟาร์ม บ่อพัก คูน้ำทิ้งและบ่อเลี้ยง

            -กำจัดสัตว์พาหะนำโรในบ่อเลี้ยงก่อนการเตรียมน้ำเป็นพิเศษ

            -ล้อมป้องกันสัตว์พาหะนำโรค เข้าสู่บ่อเลี้ยงอีกในภายหลัง

            -พักฟาร์มหรือพักบ่อนานๆตามเงื่อนไขที่เหมาะสม

ถ้าแหล่งเลี้ยงและการผลิตกุ้งรอบก่อนได้ผลปกติ อาจเตรียมฟาร์มได้ง่ายและเร็ว (ตามความจำเป็น)

การเตรียมบ่อ  มีลำดับการดำเนินการคือ

1.  การบำบัดสารอินทรีย์ส่วนเกินในเขตเลี้ยง

-กรณีพื้นบ่อดินทราย มักจะมีสารอินทรีย์หมักหมมใต้ทรายทั่วพื้น ควรไถพรวน โดยมีความชื้น และกลับซุยดินบ่อยๆจนกว่าการย่อยสลายสมดุล(ดินทรายปรับพื้นเรียบแน่นใหม่ได้ง่าย)

-กรณีบ่อดินเหนียว ลูกรัง ตะกอน ปรับซุยเฉพาะบริเวณที่ตรวจเช็คแล้วว่าหมักหมม

*กรณีไถพรวนเขตเลี้ยงทั่วบ่อ ต้องคำนึงถึงการบดอัดดินด้วย เพราะบ่อดินเหนียว ดินตะกอน ดินลูกรัง หากไม่มีการอัดดินหลังไถพรวนจะเกิดปัญหาดินยุ่ยในระหว่างการเลี้ยงรอบต่อไปได้(อัดดินในขณะที่ดินหมาดพอดี)

 

2.  การบำบัดสารอินทรีย์ส่วนเกิน(ตะกอนขี้กุ้ง)ในเขตเลน

-บ่อดินทราย        ขี้กุ้งน้อยมาก อาจตากบ่อแห้ง หรือซุยเฉพาะเขตเลี้ยงได้

                        ขี้กุ้งมาก ไถพรวนซุยพื้นบ่อทั่วบ่อ หรือนำออกบางส่วน

-กรณีดินเหนียว ดินลูกรัง ตะกอน

                        ขี้กุ้งมาก ควรเอาขี้กุ้งออกนอกบ่อ และพรวนซุยส่วนที่เหลือ

                        ขี้กุ้งน้อย ควรตากบ่อให้เลนยุบตัว หรือพรวนซุยเฉพาะบริเวณหมักหมม

*กรณีเลี้ยงกุ้งบางในรอบก่อน  ไม่มีบริเวณเน่าเสีย เลนไม่รวมหรือรวม ก็อาจจะใช้เพียงวิธีนำน้ำเข้ามา ลากโซ่ทั่วบ่อ จนกว่าการย่อยตะกอนสมดุลได้

*กรณีดินกรด หากมีการซุยพื้นบ่อควรใช้ปูนดิบ ปูนมาร์ล ปูนแคลเซียม หรือโดโลไมท์ช่วยปรับสภาพกรดด่างของดิน และไม่ตากบ่อแห้ง เพื่อป้องกันกรดใต้ดินซึมขึ้นบนผิวพื้นบ่อ

*กรณีเลี้ยงรอบก่อนมีปัญหาซูโอแทมเนียมหรือกุ้งติดเชื้อวิบริโอหรือกรอบแกรบ ควรซุยพรวนบริเวณหมักหมมพื้นบ่อก่อนนำน้ำเข้า พร้อมการเติมจุลินทรีย์ช่วยเร่งใช้สารอินทรีย์และแข่ง-ข่มเชื้อที่ไม่ต้องการและควรลากโซ่รายวันตลอดระยะเตรียมน้ำรอบใหม่

*กรณีเกิดโรควิบริโอเรืองแสงรอบก่อน ควรคราดซุยพื้นบ่อเป็นพิเศษ        พร้อมเสริมจุลินทรีย์ในระหว่างการคราดซุยด้วย เพื่อป้องกันเชื้อวิบริโอเรืองแสงครองพื้นที่ใต้ตะกอนพื้นบ่อก่อนการนำน้ำเข้า ซึ่งสาเหตุนี้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้กุ้งระยะคุ้ยตะกอนพื้นเกิดปัญหาทำกุ้งป่วยด้วยวิบริโอเรืองแสงในรอบต่อไป

*การเติมวัสดุปูน ตามความจำเป็นเพื่อให้ดินบ่อมีพีเอช เป็นกลางระดับ 6.0 ถึงใกล้ 7.0(ไม่ควรเติมปูนจนพื้นบ่อพีเอชเกิน 7.0)

 

การป้องกันโรคในเขตเสี่ยงมากๆ

-ทุกขั้นตอนการเตรียมฟาร์มเตรียมบ่อใช้น้ำที่ปลอดพาหะฯ ป้องกันสัตว์ที่มาทางบก และทางอากาศครบถ้วน(ล้อมอวน หรือตาข่าย หรือพลาสติกกันปู และขึงสายกันนก)

-เสี่ยงมากเกิน อาจต้องหยุดรอ เพื่อให้แหล่งเลี้ยงปลอดความเสี่ยง หรือเสี่ยงต่ำสุด

 

ภาพที่ 5.37 บ่อที่มีการขึงสายกันนกและพลาสติกกันปู

 

การเตรียมห่วงโซ่อาหารธรรมชาติในระยะเตรียมบ่อ

-นำน้ำที่เตรียมไว้ในบ่อพักน้ำ กรองเข้าบ่อด้วยกรองละเอียดให้ท่วมแฉะบริเวณพื้นเขตเลน

-นำหญ้าหรือฟางแห้ง มัดฟ่อน และวางกระจายบนผิวพื้นเขตเลน 10-20 ฟ่อน ทิ้งไว้เพื่อล่อแมลงลงวางไข่ ประมาณ 4-6วัน

-เก็บฟ่อนหญ้า วางรายบริเวณรอยต่อผิวน้ำ กับขอบบ่อ และนำออกก่อนถึงระยะปล่อยลูกกุ้ง

-วิธีนี้ผ่านการทดลองมาแล้วได้ผลดีมาก (ส่วนผลที่ได้ขึ้นอยู่กับความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ  ซึ่งสัมพันธ์กับความชุกชุมของพ่อแม่พันธุ์หนอนแดงในระยะนั้นๆ ถ้าความชื้นของอากาศน้อย  พ่อแม่พันธุ์หนอนแดงจะไม่มี)

 

เทคนิคการเตรียมน้ำ

เทคนิคการเตรียมน้ำในปัจจุบันมีหลายสูตรและหลายเงื่อนไข ในที่นี้จะประมวลเฉพาะเงื่อนไขและวิธีการที่สำคัญดังนี้

 

ขั้นตอนมาตรฐาน

น้ำเข้าบ่อพัก        -กรองและควรมีปลากินเนื้อ กินพืชสมดุลในบ่อพัก(ตามความเหมาะสม)

                                    -ปรับน้ำตามคุณภาพน้ำที่นำเข้า เช่น ทิ้งนาน ปรับพีเอชระดับ 7.8-8.0 กรณีบ่อลึกหรือแคบ ควรตีน้ำหรือเคล้าน้ำช่วย

                                    -ถ้าเสี่ยงโรคมาก ควรย้ายน้ำเข้าบ่อชงอีกครั้งหากมีบ่อพักบ่อเดียวควรใช้วิธีกำจัดพาหะฯในบ่อพัก ถ้าเสี่ยงน้อยอาจตัดสินใจกำจัดพาหะฯในบ่อเลี้ยงได้

 

นำน้ำเข้าบ่อเลี้ยง  -กรองละเอียด (ระดับผ้าป่านใยแก้ว 4ชั้น หรือกรอง 150 เมซ) และควรกรองอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เขย่าถุงขณะที่กรอง(ขั้นตอนนี้ต้องไม่รั่ว ไม่พลาด)

                                    -กำจัดพาหะฯตามความจำเป็น และถูกต้องตามวิธีการ ตามผลประเมินความเสี่ยงเช่น

                        คลอรีน               -พีเอชน้ำ7.3-7.8 และใช้ในช่วงอากาศเย็น พีเอชต่ำ(เช้ามืด)

                                                -ใส่เร็ว เคล้าทั่วถึงทั้งบ่อ

                                                -อัตราใช้ที่คลอรีน 60% แท้50 กิโลกรัมต่อไร่

                        ไตรคลอร์ฟอน      -พีเอชน้ำ 7.8 ขึ้นไป ช่วงน้ำอุ่น พีเอชสูง(ตอนบ่าย)

                                                -ไม่ใส่กาก  เคล้าถึงทั่วบ่อ

                                                อัตราใช้ 1-1.5 กิโลกรัมต่อไร่

*เทคนิคให้สารเคล้าทั่วบ่อเสมอกัน โดยหยอดเติมสารทั่วบ่อในขณะน้ำนิ่ง และเปิดเครื่องตีน้ำตัวเดียวสลับกับฝั่งตรงข้าม (ตี20นาที หยุด 20นาที สลับกัน2-3ครั้ง)และหยุดให้สารออกฤทธิ์เต็มที่อย่างน้อย1 วัน

การเบื่อปลา ถ้าจำเป็นต้องเบื่อปลาควรใช้กากชาหรือน้ำกากชา ซึ่งหลายวิธีเช่นใช้ทั้งกากอัตรา20-30 กิโลกรัมต่อไร่ทั่วบ่อ หรือใช้เฉพาะน้ำอัตราใช้ 10-20 กิโลกรัมต่อไร่(การลงทั้งกากจะกำจัดซูโอแทมเนียม โปรโตซัว และหอยเจดีย์ระดับหนึ่ง แต่การลงกากชาจมีผลให้ตัวอ่อนหนอนแดงตายด้วย จึงจำเป็นต้องมีช่วงเตรียมน้ำนานขึ้นให้เกิดอาหารธรรมชาติรอบใหม่) กรณีกรองได้ดี ไม่จำเป็นต้องเบื่อปลา

 

การทำสีน้ำและเตรียมอาหารธรรมชาติ

            กรณีบ่อมีตะกอนสารอินทรีย์อยู่แล้ว(บ่อส่วนใหญ่) เพียงใช้วิธีลากโช่ทั่วบ่อรายวันให้สีน้ำขึ้นเอง แต่กรณีบ่อใหม่อาจต้องเติมสารอาหารหมักช่วยบ้าง

-เมื่อสีน้ำเริ่มขึ้นควรเติมสารอาหารหมักเพื่อล่อแม่พันธุ์หนอนแดงลงวางไข่

-เตรียมน้ำนานพอ เพื่อให้มีอาหารธรรมชาติระดับหนึ่ง  (10-20 วัน ตามความเหมาะสม)

-ก่อนปล่อยกุ้ง 3-4 วันควรใช้มุ้งฟ้าตีอวน หรือทำเป็นชุดรุนอวนทั่วบ่อ เพื่อเอาตัวอ่อนแมลงปอออกโดยทำงานในเวลาพลบค่ำ 18.00-22.00 .(แมลงว่ายน้ำ)

* ในกรณีที่บ่อเลี้ยงเก่าที่เลี้ยงมานาน  เมื่อเลี้ยงไประยะหนึ่งแล้วพื้นเป็นตะกอนทราย ควรเติมแร่ธาตุผสมลงไป

*ประโยชน์การลากโซ่

-ช่วยให้พื้นบ่อและตะกอนสารอินทรีย์ฟุ้งกระจาย และได้รับการบำบัดต่อเนื่อง

-ป้องกันเกิดขี้แดด

-ป้องกันการเกิดสาหร่าย

-ไม่ต้องเปลืองหรือเติมสารอินทรีย์ลงไปสะสมลงในบ่อเลี้ยงเพิ่มโดยไม่จำเป็น

-ป้องกันเชื้อซูโอแทมเนียม บลูม ที่พื้นบ่อก่อนปล่อยลูกกุ้ง

-ช่วยเพิ่มจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ถึงระดับเป็นตัวเด่นที่ผิวพื้นบ่อ

การตีอวนหรือรุนมุ้งฟ้าทั่วบ่อ

-เช็คผลการเตรียมน้ำ ถ้าพบปลาหรือกุ้งธรรมชาติ จะตัดสินใจได้ว่าจำเป็นต้องทรีตน้ำใหม่หรือไม่  หรือถ้าไม่เสี่ยงอาจเพียงตี หรือรุนมุ้งฟ้าเอาออกจนเหลือน้อยที่สุดได้

-นำตัวอ่อนแมลงปอออกจากบ่อได้มากกว่าวิธีเติมน้ำมันบนผิวน้ำ

หมายเหตุ

ฟาร์มที่มีโครงการณ์ปล่อยกุ้งบาง เลี้ยงแบบกึ่งธรรมชาติ (10,000-20,000 ตัวต่อไร่) หรือพัฒนาหนาแน่นน้อย (ระดับไม่เกิน 40,000 ตัวต่อไร่)ก็ยังคงต้องเคร่งครัดการเตรียมบ่อ และเตรียมน้ำเป็นพิเศษ โดยเน้นที่การกรองเป็นอย่างดี ลากโซ่ทั่วบ่อรายวัน และตีหรือรุนอวนมุ้งฟ้าเอาศัตรูกุ้งออกให้หมด เพื่อป้องกันปัญหาโรคระบาดและอัตรารอดต่ำ จะเสียโอกาสในการผลิต

            ทั้งหมดที่ผู้เขียนนำเสนอในวิธีการต่างๆ ในการเตรียมบ่อ และเตรียมน้ำก่อนปล่อยลูกกุ้ง  ในทางปฏิบัติซึ่งได้ผ่านการเลี้ยงและได้ผลเป็นที่พอใจแล้ว  จะเห็นได้ว่ามีความคล้ายคลึงกันในวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้บ่อมีความพร้อมสูงสุดก่อนปล่อยลูกกุ้ง  ส่วนเกษตรผู้เลี้ยงกุ้งจะเลือกใช้วิธีใดก็ต้องพิจารณาตามความเหมาะสมของพื้นที่ และความพร้อมของแต่ละฟาร์ม หรืออาจจะนำบางส่วนไปดัดแปลงเสริมในบางจุดที่คิดว่าควรจะต้องมีการปรับปรุงเพื่อให้ได้ผลที่ดีขึ้น